|
|
วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2476 หลังจากที่ประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้เพียงปีเศษ เหล่าทหารจำนวนหนึ่ง ที่ประจำการอยู่ที่ฐานที่ตั้ง ณ เมืองนครราชสีมา นำโดยพลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช ไม่เห็นด้วยกับแนววิธีการปกครองของคณะราษฎร จึงได้รวมกำลังก่อการปฏิวัติขึ้น แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ต้องพ่ายแพ้แก่ฝ่ายรัฐบาลไปในที่สุด และเรียกการปฏิวัติครั้งนี้ว่า "กบฏบวรเดช"
ขณะที่มีการก่อการปฏิวัตินั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับแรมอยู่ ณ ตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้ทรงฟังรายงานข่าวทางวิทยุกระจายเสียงว่า ได้มีการสู้รบกันระหว่างฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายปฏิวัติที่จังหวัดเพชรบุรี และทหารของฝ่ายปฏิวัติแตกพ่ายถอยร่นลงไปทางใต้ อาจไปเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อยึดเป็นที่พึ่งได้
|
|
|
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบรายงานข่าวในลักษณะนี้ ก็ทรงพระราชดำริว่า สถานการณ์อย่างนี้อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ทั้งสองฝ่าย เนื่องจากผู้ก่อการปฏิวัติเป็นเชื้อพระวงศ์ ดังนั้นในคืนวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2476 ทรงตัดสินพระราชหฤทัย เสด็จพระราชดำเนินออกจากสวนไกลกังวล โดยเรือพระที่นั่งศรวรุณ ไปประทับที่ตำหนักเดิม ของสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ จังหวัดสงขลา ซึ่งห่างไกลเหตุการณ์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอังกฤษ เพื่อทรงรับการรักษาพระเนตรอีกครั้ง และเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ โดยมี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงร่วมเสด็จฯด้วยเช่นเคย และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จพระราชดำเนินไปประทับประเทศอังกฤษ วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2477 เพื่อทรงรับการรักษาพระเนตร โดยได้ทรงเช่าคฤหาสน์หลังหนึ่งไว้เป็น ที่ประทับในมณฑลเซอร์เรย์ ซึ่งพระราชทานชื่อว่า "บ้านโนล"
|
|
ในช่วงนี้การเจรจาการเมืองกับรัฐบาลทางกรุงเทพ ก็ยังดำเนินอยู่ แต่แล้วก็มีความคิดเห็นขัดแย้งกัน ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กับรัฐบาลในเรื่องหลักการสำคัญๆ ด้วยไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายแห่งการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังนั้น ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ
|